สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (อังกฤษ: Elizabeth II; ประสูติ 21 เมษายน พ.ศ. 2469) เป็นพระราชินีนาถแห่ง 16 จาก 53 รัฐสมาชิกในเครือจักรภพแห่งชาติ พระองค์เป็นประธานเครือจักรภพและผู้ปกครองสูงสุดแห่งคริสตจักรแห่งอังกฤษ
เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 พระองค์เป็นประธานเครือจักรภพและพระราชินีนาถแห่งเจ็ดรัฐเครือจักรภพเจ็ดรัฐ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ ปากีสถานและซีลอน พิธีราชาภิเษกของพระองค์ในปีถัดมาเป็นพิธีราชาภิเษกครั้งแรกที่ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ระหว่าง พ.ศ. 2499 ถึง 2535 จำนวนราชอาณาจักรของพระองค์แปรผันเมื่อดินแดนต่าง ๆ ได้รับเอกราชและบ้างกลายเป็นสาธารณรัฐ ปัจจุบัน นอกจากสี่ประเทศแรกที่ได้กล่าวไว้แล้วนั้น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ยังเป็นพระราชินีนาถแห่งจาเมกา บาร์เบโดส หมู่เกาะบาฮามาส เกรนาดา ปาปัวนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน ตูวาลู เซนต์ลูเซีย เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ แอนติกาและบาร์บูดา เบลิซ และเซนต์คิตส์และเนวิส พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงราชย์อยู่ที่ทรงพระชนมายุมากที่สุดในโลก ตลอดจนเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระชนมายุมากที่สุดของบริเตน เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558 พระองค์เป็นประมุขแห่งรัฐบริเตนที่ทรงราชย์นานที่สุด แซงหน้ารัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ผู้เป็นพระมารดาของพระปัยกา (ทวด) ของพระองค์ และเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงราชย์นานที่สุดในประวัติศาสตร์
พระองค์เป็นพระราชธิดาพระองค์แรกของดยุกและดัชเชสแห่งยอร์ก (ต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ) พระราชบิดาเป็นพระราชโอรสองค์ที่สองของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 กับสมเด็จพระราชินีแมรี พระราชบิดาของพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 พระราชโอรสองค์โตทรงสละราชสมบัติ พระองค์จึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัชทายาทโดยสันนิษฐานแห่งสหราชอาณาจักร
เมื่อครั้งทรงพระเยาว์พระองค์ประทับ ณ กรุงลอนดอน บริเวณพิคคาเดลลี ไวท์ลอดจ์ ริชมอนด์ พาร์ค และพระตำหนักในชนบทของพระอัยยิกา เมื่อพระองค์ทรงพระชนมายุได้ 6 พรรษา พระบิดาได้พระราชทานพระตำหนักในวินด์เซอร์เกรทพาร์คให้เป็นที่ประทับนอกเมือง พระองค์ทรงได้รับการศึกษาชั้นต้น ณ ที่ประทับ และเมื่อพระบิดาได้เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์จึงต้องทรงศึกษา ทางด้านประวัติศาสตร์ และกฎหมาย เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเป็นกษัตริย์ในอนาคต นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงศึกษาทางด้านศิลปะ ดนตรี และเรียนการขี่ม้า ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นกีฬาที่ทรงโปรดปราน พระองค์ทรงมีพระสหายชื่อ โรสเลเวน่า มิโนลาช
พระองค์ทรงเริ่มต้นปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงพระราชดำรัสออกอากาศ ในรายการสำหรับเด็กในประเทศอังกฤษ และเครือจักรภพของบีบีซี ตั้งแต่พระชนมายุได้ 16 พรรษา และทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจครั้งแรก เมื่อพระชนมายุ 16 พรรษา ในฐานะนายทหารยศพันเอกแห่งกองทหารราบรักษาพระองค์ โดยทรงตรวจพลสวนสนามและยังทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก และเยาวชนอีกมากมาย หลังจากที่ครบรอบพระชนมายุ 18 พรรษาได้ไม่นาน พระองค์ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษารัฐบาล และได้เริ่มปฏิบัติพระราชกรณียกิจแห่งองค์รัชทายาทเป็นครั้งแรก
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารนอกประจำการ พระราชกรณียกิจของพระองค์เพิ่มขึ้น รวมทั้งการเสด็จประพาสภายในและนอกประเทศ พระราชกรณียกิจในระหว่างการเยือนนี้ เป็นช่วงที่ครบรอบวันประสูติปีที่ 21 ซึ่งพระองค์ได้ทรงแถลงการณ์ออกอากาศ ประกาศเจตนารมณ์ที่จะอุทิศพระองค์ เพื่อภารกิจของประเทศในเครือจักรภพ และในปีเดียวกันนี้เอง ที่พระองค์ทรงประกาศหมั้นกับ "เรือโทฟิลลิปส์ เมาท์แบทเท็น" (ต่อมาคือเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ) โดยพระราชพิธีอภิเษกสมรสจัดขึ้นที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 พระองค์ทรงแถลงการณ์ซ้ำอีกครั้งถึงเจตนารมณ์ ที่จะอุทิศพระองค์เพื่อภารกิจของประเทศในวันเสด็จขึ้นครองราชย์
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 หลังจากที่พระราชบิดาเสด็จสวรรคต ขณะที่พระองค์กำลังประทับอยู่ที่ประเทศเคนยา ซึ่งเป็นประเทศแรกตามหมายกำหนดการเยือนประเทศในเครือจักรภพของพระองค์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดขึ้นที่มหาวิหารเวสมินสเตอร์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2496 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พระราชพิธีได้ถ่ายทอดไปทั่วโลก
พระองค์ทรงมีพระราชโอรสพระองค์แรกคือเจ้าชายชาลส์ ซึ่งปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น "เจ้าชายแห่งเวลส์" ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2491 พระองค์ที่สองเป็นพระราชธิดา มีพระนามว่าเจ้าหญิงแอนน์ ซึ่งปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น "เจ้าหญิงพระราชกุมารี" ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2493 พระราชโอรสพระองค์ที่สามคือเจ้าชายแอนดรูว์ ปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น "ดยุกแห่งยอร์ก" ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2503 และพระราชโอรสพระองค์เล็กคือเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ปัจจุบันดำรงพระอิสริยยศเป็น "เอิร์ลแห่งเวสเซ็กส์" ซึ่งประสูติในปี พ.ศ. 2507
เจ้าหญิงเอลิซาเบธเป็นพระราชธิดาองค์แรกในเจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งยอร์ก (ภายหลังขึ้นเถลิงราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6) กับเอลิซาเบธ ดัชเชสแห่งยอร์ก พระราชบิดาของพระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สองในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 กับสมเด็จพระราชินีแมรี พระราชมารดาของพระองค์เป็นธิดาคนสุดท้ายของขุนนางชาวสกอตแลนด์นามว่า โคลด โบวส์-ลีออน เอิร์ลที่ 14 แห่งสตราธมอร์และคิงฮอร์น เจ้าหญิงเอลิซาเบธประสูติโดยคลอดแบบผ่าท้องเมื่อเวลา 2.40 น. (ตามเวลากรีนิช) ของวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2469 ณ บ้านเลขที่ 17 ถนนบรูตัน เมย์แฟร์ กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นของพระอัยกาฝ่ายพระราชมารดา (ตา) ในกรุงลอนดอน ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม ทรงเข้ารับพิธีบัพติศมานิกายแองกลิคันจากคอสโม กอร์ดอน แลง อาร์ชบิชอปแห่งยอร์ก ณ โบสถ์ส่วนพระองค์ภายในพระราชวังบักกิงแฮม[note 2] และได้รับพระนาม เอลิซาเบธ ตามพระราชมารดา, อะเล็กซานดรา ตามสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา พระปัยยิกา (ย่าทวด) ซึ่งสิ้นพระชนม์ก่อนการประสูติของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ 6 เดือน และ แมรี ตามสมเด็จพระราชินีแมรี พระอัยยิกาฝ่ายพระราชบิดา (ย่า) เจ้าหญิงเอลิซาเบธเป็นพระราชนัดดาหัวแก้วหัวแหวนของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 กล่าวกันว่าเมื่อเจ้าหญิงเอลิซาเบธเสด็จไปเยี่ยมพระอาการประชวรของพระเจ้าจอร์จที่ 5 ในปี พ.ศ. 2472 ทำให้พระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงมีกำลังพระทัยและพระอาการดีขึ้น
พระองค์มีพระขนิษฐาพระองค์เดียวคือเจ้าหญิงมาร์กาเรต ซึ่งมีพระชันษาน้อยกว่าอยู่ 4 พรรษา ทั้งสองพระองค์ทรงได้รับการศึกษา ณ พระตำหนักที่ประทับภายใต้การควบคุมดูแลของพระราชมารดาและ แมเรียน คราวฟอร์ด พระอาจารย์ส่วนพระองค์ ซึ่งได้รับการเรียกขานในบางโอกาสว่า "คราวฟี" บทเรียนที่ทรงศึกษาเน้นหนักไปที่ประวัติศาสตร์, ภาษา, วรรณกรรม และดนตรี ในปี พ.ศ. 2493 แมเรียนออกหนังสือเกี่ยวกับพระราชประวัติของเจ้าหญิงเอลิซาเบธและเจ้าหญิงมาร์กาเรตในช่วยวัยเยาว์ชื่อว่า The Little Princesses (เจ้าหญิงองค์น้อย) ซึ่งสร้างความผิดหวังแก่พระราชวงศ์อังกฤษ หนังสือได้อธิบายว่าเจ้าหญิงเอลิซาเบธโปรดม้าและสุนัข, ความเป็นระเบียบ และทัศนคติต่อความรับผิดชอบของพระองค์ ด้านวินสตัน เชอร์ชิลล์ กล่าวถึงเจ้าหญิงเอลิซาเบธขณะมีพระชนมายุ 2 พรรษาว่า "ด้านพระจริยวัตร ทรงมีห้วงอากาศแห่งพระราชอำนาจและความไตร่ตรองอย่างน่าอัศจรรย์ภายในตัวพระองค์" ส่วนพระญาตินามว่า มาร์กาเรต โรดส์ กล่าวถึงพระองค์ว่าเป็น "เด็กหญิงตัวเล็กผู้ร่าเริง แต่มีความมีเหตุผลพื้นฐานและความประพฤติที่ดี"
เมื่อทรงพระเยาว์พระประยูรญาติสนิททรงเรียกพระองค์ว่า "ลิลิเบ็ต" เมื่อพระชนมายุได้ 10 พรรษา พระองค์ทรงได้พบกับนักเทศน์คนหนึ่งที่ปราสาทกลามิส เมื่อเขาลากลับ เขาได้สัญญาที่จะส่งมาหนังสือมาให้พระองค์เล่มหนึ่ง เจ้าหญิงตรัสตอบว่า "ไม่เอาเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้านะ เรารู้เรื่องพระองค์หมดแล้ว"
ในฐานะที่เป็นพระราชนัดดาในพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นบุรุษ มีพระนามเต็มว่า เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งยอร์ก และอยู่ลำดับที่สามในลำดับการสืบราชบัลลังก์อังกฤษ ตามหลังเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ พระปิตุลาในลำดับแรก และเจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งยอร์ก พระราชบิดาในลำดับที่สอง แม้ว่าการประสูติของพระองค์จะอยู่ในความสนใจของสาธารณชน แต่ก็ไม่มีใครคาดหมายว่าพระองค์จะได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระราชินีนาถ เพราะในขณะนั้นเจ้าชายแห่งเวลส์ (พระปิตุลา) ยังมีพระชนมายุไม่มาก ทั้งยังได้รับการคาดหมายว่าจะอภิเษกสมรสและมีพระโอรส-ธิดาของพระองค์เอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2479 เมื่อพระอัยกาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 เสด็จสวรรคต และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระปิตุลา เถลิงถวัลย์ราชสมบัติขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 เจ้าหญิงเอลิซาเบธจึงเลื่อนขึ้นมาลำดับที่สองในลำดับการสืบราชบัลลังก์ตามหลังพระราชบิดาในลำดับที่หนึ่ง ภายหลังในปีเดียวกันนี้เองที่พระปิตุลาทรงสละราชสมบัติเพื่อไปสมรสกับวอลลิส ซิมป์สัน แม่หม้ายชาวอเมริกันผู้หย่าร้างมาแล้วสามรอบ ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญขึ้น พระราชบิดาขึ้นเถลิงราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์และพระองค์ก็ทรงกลายมาเป็นรัชทายาทโดยสันนิษฐานด้วยพระอิสริยยศ เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ซึ่งถ้าหากพระองค์มีพระเชษฐาหรือพระอนุชาร่วมบิดา-มารดา พระองค์ก็จะทรงสูญเสียสถานะรัชทายาทโดยสันนิษฐานและอยู่ในลำดับการสืบราชบัลลังก์ที่ต่ำกว่า เพราะตามกฏสืบราชสมบัติอังกฤษจะให้สิทธิ์แก่รัชทายาทบุรุษเป็นรัชทายาทโดยนิตินัย
เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงได้รับการศึกษาในวิชาประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญจาก เฮนรี มาร์เตน รองอาจารย์ใหญ่แห่งวิทยาลัยอีตัน และทรงเรียนภาษาฝรั่งเศสจากพระอาจารย์ที่พูดภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่หลายคน ต่อมากองเนตรนารีที่หนึ่งแห่งพระราชวังบักกิงแฮมได้รับการก่อตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อให้พระองค์ทรงสามารถมีพระปฏิสันถารกับเด็กหญิงวัยเดียวกัน ซึ่งภายหลังทรงดำรงตำแหน่งเป็น แรนเจอร์ทะเล (sea ranger)
ในปี พ.ศ. 2470 เมื่อครั้งพระราชบิดา-มารดาของพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เจ้าหญิงเอลิซาเบธยังคงประทับอยู่ในสหราชอาณาจักรเนื่องจากพระราชบิดาทรงเกรงว่าเจ้าหญิงยังทรงพระเยาว์เกินกว่าที่จะสามารถตามเสด็จในที่สาธารณะได้ เช่นเดียวกับครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนแคนาดาและสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2482 เจ้าหญิงก็ยังประทับอยู่ในสหราชอาณาจักรเช่นเดิม เจ้าหญิงทรงดูเหมือนว่าจะทรงร้องไห้เมื่อพระราชบิดา-มารดาทรงออกเดินทาง ทั้งสองฝ่ายทรงติดต่อกันเป็นประจำและในวันที่ 18 พฤษภาคม ก็ได้ทรงติดต่อกันผ่านทางโทรศัพท์สาย ทรานส์แอตแลนติก เป็นครั้งแรก
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2482 สหราชอาณาจักรเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองที่ดำเนินไปจนถึงปี พ.ศ. 2488 ในระยะเวลาช่วงนี้เองที่กรุงลอนดอนถูกทิ้งระเบิดทางอากาศอย่างหนัก เด็กชาวลอนดอนจำนวนมากถูกอพยพไปอยู่ตามชนบท มีคำแนะนำจากนักการเมืองอาวุโสนามว่า ดักลาส ฮอกก์ วิสเคาท์ที่หนึ่งแห่งเฮลเชม (ลอร์ดเฮลเชม) เสนอให้เชิญพระราชธิดาทั้งสองพระองค์เสด็จลี้ภัยไปประทับอยู่ ณ แคนาดา แต่สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธทรงปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวและทรงประกาศว่า "เด็ก ๆ จะไม่เสด็จไปโดยปราศจากข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่เสด็จไปโดยปราศจากพระเจ้าอยู่หัว และพระเจ้าอยู่หัวจะไม่เสด็จไปไหนทั้งนั้น" เจ้าหญิงเอลิซาเบธและเจ้าหญิงมาร์กาเรตประทับ ณ ปราสาทบาลมอรัลในสกอตตแลนด์จนถึงช่วงคริสต์มาสปี พ.ศ. 2482 เมื่อเสด็จไปประทับที่พระตำหนักซานดริงแฮมในนอร์ฟอล์กแทน และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2483 เสด็จไปประทับที่รอยัลลอดจ์ในวินด์เซอร์ จนในที่สุดเสด็จไปประทับ ณ พระราชวังวินด์เซอร์ ที่ซึ่งใช้เวลาส่วนมากของอีกห้าปีถัดมาประทับอยู่ ณ ที่แห่งนั้น ที่วินด์เซอร์ เจ้าหญิงทั้งสองพระองค์ทรงแสดงละครใบ้ในงานคริสต์มาสเพื่อช่วยหาเงินเข้ากองทุนขนแกะของสมเด็จพระราชินี ซึ่งใช้ในการจัดหาเส้นด้ายในการทอเสื้อผ้าทหาร ในปี พ.ศ. 2483 เจ้าหญิงเอลิซาเบธซึ่งมีพระชันษาได้ 14 พรรษา ได้ทรงจัดรายการทางวิทยุของบีบีซีเป็นครั้งแรกในรายการ Children's Hour (ชั่วโมงของเด็ก) และทรงกล่าวต่อเด็ก ๆ ที่อพยพออกจากลอนดอนว่า: เราพยายามทุกวิถีทางในการช่วยเหลือเหล่าลูกเรือ, ทหาร และนักบินผู้กล้าหาญของพวกเรา และเราพยายามแบกรับเอาความเศร้าโศกและอันตรายที่มีร่วมกันไว้ด้วยเช่นกัน เราทราบดีว่าท้ายที่สุดแล้วเราทุกคนจะปลอดภัย
ในปี พ.ศ. 2486 ในขณะที่มีพระชันษา 16 พรรษา เสด็จออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรกในการตรวจแถวสวนสนามของกองทัพบก ที่ซึ่งทรงได้รับการพระราชทานตำแหน่งผู้บัญชาการยศพันเอกหญิงในปีก่อนหน้า เมื่อทรงเจริญพระชันษาย่างเข้า 18 พรรษา กฎหมายเปลี่ยนให้ทรงมีฐานะเสมือนเป็นหนึ่งในองคมนตรีแห่งรัฐ (Counsellors of State) ทั้งห้าท่าน เพื่อสามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจทดแทนยามที่พระราชบิดาทรงติดขัดหรือเสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศ เช่น ครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปอิตาลีในปี พ.ศ. 2487 ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 ทรงเข้าร่วมหน่วยบริการภาคพื้นดินในฐานะผู้บังคับหมวดที่สอง ซึ่งมีหมายเลขประจำพระองค์คือ 230873 ทรงได้รับการฝึกเป็นพนักงานขับรถและช่างยนต์และทรงได้รับการเลื่อนขั้นเป็นผู้บัญชาการระดับอาวุโสในอีก 5 เดือนถัดมา
ในวันแห่งชัยชนะในทวีปยุโรปซึ่งเป็นวันที่สงครามโลกครั้งที่สองภาคทวีปยุโรปสิ้นสุดลง เจ้าหญิงเอลิซาเบธและเจ้าหญิงมาร์กาเรตทรงแฝงพระองค์ร่วมเฉลิมฉลองกับประชาชนบนท้องถนนของกรุงลอนดอน ต่อมาได้พระราชทานสัมภาษณ์ว่า "เราสองคนขอพระราชบิดา-มารดาเพื่อออกไปดูด้วยตัวของเราเอง จำได้ว่าเรากลัวที่จะมีคนจดจำเราได้ ... มีแถวของผู้คนมากหน้าหลายตาจับมือแล้วร่วมเดินไปด้วยกันบนถนนไวต์ฮอล พวกเราทั้งหมดได้รับการกวาดไปตามกระแสธารแห่งความสุขและความโล่งใจ"
ช่วงระหว่างสงคราม แผนการของรัฐบาลมากมายได้รับการคิดขึ้นเพื่อระงับกระแสชาตินิยมในเวลส์ ด้วยการผูกมัดเจ้าหญิงเอลิซาเบธให้มีความใกล้ชิดกับเวลส์มากขึ้น อาทิ สถาปนาเจ้าหญิงให้ทรงเป็นผู้ดูแลปราสาทคายร์นาร์วอน ซึ่งในขณะนั้นตำแหน่งผู้ดูแลเป็นของอดีตนายกรัฐมนตรีเดวิด ลอยด์ จอร์จ ด้านเลขาธิการความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เฮอร์เบิร์ต มอร์ริสัน มีอีกแผนการหนึ่งคือให้เจ้าหญิงทรงเป็นผู้อุปถัมภ์สันนิบาตเยาวชนแห่งเวลส์ (the Welsh League of Youth) ส่วนนักการเมืองชาวเวลส์เสนอให้ถวายตำแหน่งเจ้าหญิงแห่งเวลส์ในวันคล้ายวันประสูติปีที่ 18 ของพระองค์ อย่างไรก็ตามทุกข้อเสนอล้วนถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ความกลัวที่ว่าจะนำพระองค์ไปข้องเกี่ยวกับกลุ่มผู้ปฏิเสธการเกณฑ์ทหารโดยมโนสำนึกในสันนิบาตเยาชนแห่งเวลส์ ซึ่งในช่วงที่สหราชอาณาจักรอยู่ในภาวะสงครามถูกมองว่าเป็นกลุ่มบุคคลเสื่อมเสีย ในปี พ.ศ. 2489 ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ชนะและประทับบนบัลลังก์แห่งบาร์ดส์ (Gorsedd of Bards) ในงานเทศกาลไอส์เตดด์วอดแห่งชาติเวลส์ (National Eisteddfod of Wales)
ในปี พ.ศ. 2490 เจ้าหญิงเอลิซาเบธเสด็จเยือนต่างประเทศพร้อมกับพระราชบิดา-มารดาเป็นครั้งแรกบริเวณตอนใต้ของทวีปแฟริกา ในช่วงการเสด็จเยือน ทรงออกแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษไปยังประเทศเครือจักรภพเนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันประสูติปีที่ 21 ว่า:
ข้าพเจ้าขอปฏิญาณต่อหน้าพวกท่านทุกคนว่า ตลอดชีวิตของข้าพเจ้า ไม่ว่าจะยาวหรือจะสั้น จะมีไว้เพื่อรับใช้ท่าน และเพื่อรับใช้ครอบครัวใหญ่ของพวกเรา ที่พวกเราทุกคนอาศัยอยู่
พระองค์ทรงพบกับเจ้าชายฟิลิปแห่งกรีซและเดนมาร์ก พระสวามีในอนาคต เมื่อปี พ.ศ. 2477 และ พ.ศ. 2480 ทั้งสองพระองค์เป็นพระญาติชั้นที่หนึ่งของกันและกันผ่านทางสายพระโลหิตของสมเด็จพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก และเป็นพระญาติชั้นที่สามผ่านทางสายพระโลหิตของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย จากนั้นทรงพบปะกันอีกครั้งที่วิทยาลัยราชนาวีอังกฤษในปี พ.ศ. 2482 ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 13 พรรษาและทรงยอบรับว่ามีพระเสน่หากับเจ้าชายฟิลิป ทั้งสองพระองค์จึงทรงมีจดหมายและหัตถเลขาถึงกันและกันแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ต่อมาพิธีหมั้นจึงประกาศออกมาอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2490
การหมั้นในครั้งนี้ย่อมมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเนื่องจากเจ้าชายฟิลิปทรงไม่มีฐานะทางการเงินที่แน่นอน ทั้งยังประสูติจากต่างแดน (แม้จะอยู่ใต้บังคับของทางการสหราชอาณาจักรและรับใช้ในราชนาวีอังกฤษช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) รวมถึงการที่พระเชษฐภคินีของเจ้าชายฟิลิปเสกสมรสกับขุนนางชาวเยอรมันผู้มีสายสัมพันธ์กับพรรคนาซี แมเรียน คราวฟอร์ดเขียนไว้ในหนังสือของเธอว่า "ที่ปรึกษาของพระเจ้าจอร์จที่ 6 บางคนคิดว่าเจ้าชายทรงไม่คู่ควรกับเจ้าหญิง เป็นเจ้าชายไร้ถิ่นฐาน และหนังสือพิมพ์บางฉบับก็ยังโจมตีอย่างโจ่งแจ้งในประเด็นที่ว่าทรงมีต้นกำเนิดในต่างแดน" ในหนังสือพระราชประวัติช่วงหลัง ๆ กล่าวว่าพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชมารดา ทรงต่อต้านการเสกสมรสในตอนแรก ถึงขนาดที่ทรงเรียกเจ้าชายฟิลิปว่าเป็นพวกเยอรมัน แต่อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายพระชนม์ชีพ พระราชินีเอลิซาเบธได้พระราชทานสัมภาษณ์กับนักอัตชีวประวัติ ทิม ฮีลด์ ถึงเจ้าชายฟิลิปไว้ว่าทรงเป็น "สุภาพบุรุษชาวอังกฤษ"
ก่อนการอภิเษกสมรสจะมีขึ้น เจ้าชายฟิลิปสละบรรดาศักดิ์ของกรีซและเดนมาร์ก ทรงเปลี่ยนจากนิกายกรีกออร์โธด็อกซ์มาเข้ารีตนิกายแองกลิคัน และใช้พระยศเป็น "ร้อยเอกฟิลิป เมาท์แบตเตน" ซึ่งนามสกุลเมาท์แบตเตนเป็นของบรรพบุรุษฝ่ายอังกฤษของพระมารดา ก่อนพระราชพิธีอภิเษกสมรสจะมีขึ้นไม่นาน ก็ทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นดยุกแห่งเอดินบะระชั้น "รอยัลไฮเนส" (เจ้าฟ้า)
ทั้งสองพระองค์อภิเษกกันในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ณ เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ และทรงได้รับของขวัญวันอภิเษกสมรสจำนวน 2500 ชิ้นจากทั่วทุกมุมโลก และเนื่องจากอังกฤษยังคงบอบช้ำจากสงคราม เจ้าหญิงเอลิซาเบธยังคงต้องใช้บัตรปันส่วนในการจัดหาวัตถุดิบสำหรับตัดฉลองพระองค์ที่จะใช้ในวันอภิเษกซึ่งออกแบบโดยนอร์มัน ฮาร์ตเนลล์ นอกจากนี้สายสัมพันธ์กับชาวเยอรมันของเจ้าชายฟิลิปไม่เป็นที่ยอมรับของสาธารณชนชาวอังกฤษ ผู้ที่เพิ่งจะผ่านพ้นความทุกข์ยากของสงครามมา จึงทำให้พระเชษฐภคินีทั้งสามพระองค์ของเจ้าชายไม่ได้รับเชิญให้เสด็จมาร่วมพระราชพิธีอภิเษกสมรส ในขณะที่ดยุกและดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ก็ไม่ได้รับเชิญให้เสด็จมาร่วมพระราชพิธีเช่นกัน
ทรงให้กำเนิดพระโอรสองค์แรก เจ้าชายชาลส์ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491 เป็นเวลาหนึ่งเดือนก่อนที่พระเจ้าจอร์จที่ 6 จะทรงมีจดหมายพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โอรสและธิดาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธทุกพระองค์สามารถใช้บรรดาศักดิ์เป็นเจ้าชายและเจ้าหญิงได้ ซึ่งหากมิเช่นนั้นแล้วจะไม่สามารถใช้บรรดาศักดิ์เป็นเจ้าฟ้าชาย-เจ้าฟ้าหญิงอังกฤษ เพราะในขณะนั้นเจ้าชายฟิลิปได้สละบรรดาศักดิ์ที่มีมาแต่กำเนิดไปหมดแล้วและมีบรรดาศักดิ์เป็นเพียงดยุกเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2493 พระธิดาองค์แรกก็มีพระประสูติกาลโดยมีพระนามว่า เจ้าหญิงแอนน์
ภายหลังการอภิเษกสมรส ทั้งสองพระองค์ทรงเช่าพระตำหนักวินเดิลแชมมัวร์เป็นที่ประทับซึ่งใกล้กับพระราชวังวินด์เซอร์ไปจนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 จากนั้นทรงใช้พระตำหนักแคลเรนซ์เป็นที่ประทับหลายครั้งระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2492 - พ.ศ. 2494 ในขณะนั้นดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามี ทรงประจำการอยู่ในราชนาวีอังกฤษ ณ มอลตาซึ่งเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ และประทับอยู่ด้วยกันเป็นช่วง ๆ หลายเดือน ณ วิลลาในหมู่บ้านกวาร์ดามังเจียของมอลตา ซึ่งเป็นบ้านพักของลอร์ดเมาท์แบตเตน พระปิตุลาในดยุกแห่งเอดินบะระ ส่วนพระโอรส-ธิดายังคงประทับอยู่ในสหราชอาณาจักร
ช่วงปี พ.ศ 2494 พระพลานามัยของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เสื่อมถอยลงและบ่อยครั้งที่เจ้าหญิงต้องเสด็จปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในครั้งที่เสด็จเยือนแคนาดาและสหรัฐอเมริกาในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ขณะนั้นทรงพบปะกับประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ราชเลขาธิการส่วนพระองค์ มาร์ติน คาร์เตริส ก็ได้จัดทำร่างพระราชดำรัสในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเผื่อกรณีที่พระเจ้าจอร์จที่ 6 เสด็จสวรรคตขณะเจ้าหญิงทรงอยู่ต่างประเทศ ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2495 เตรียมเสด็จเยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์โดยเสด็จเยือนเคนยาก่อน ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 เมื่อเพิ่งเสด็จถึงบ้านพักที่ประทับซากานาลอดจ์ในเคนยา หลังจากที่คืนก่อนหน้าเสด็จไปประทับที่โรงแรมทรีท็อปส์ ข่าวการสวรรคตของพระเจ้าจอร์จที่ 6 ก็มาถึงและดยุกแห่งเอดินบะระก็ได้ทรงแจ้งข่าวนี้แก่พระราชินีพระองค์ใหม่ มาร์ติน คาร์เตริส ได้ทูลถามถึงพระปรมาภิไธยที่จะทรงใช้ พระองค์ทรงเลือก "เอลิซาเบธ" เช่นเดิมแน่นอน พระองค์ทรงประกาศตนเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพพระองค์ใหม่หลังจากที่ทรงเร่งรีบเสด็จกลับสหราชอาณาจักร จากนั้นจึงเสด็จย้ายเข้าไปประทับ ณ พระราชวังบักกิงแฮมพร้อมกับดยุกแห่งเอดินบะระ
ด้วยการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการเปลี่ยนชื่อราชวงศ์ไปเป็น ราชวงศ์เมาท์แบตเตน ตามนามสกุลของดยุกแห่งเอดินบะระ และให้เจ้าหญิงทรงเปลี่ยนไปใช้นามสกุลของพระราชสวามี อย่างไรก็ตามสมเด็จพระราชินีแมรี พระอัยยิกา และนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลล์ เห็นชอบที่จะให้มีการใช้ชื่อราชวงศ์เดิมต่อไป ดังนั้นราชวงศ์วินด์เซอร์จึงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ดยุกแห่งแห่งเอดินบะระทรงบ่นว่า "เป็นบุรุษเพียงคนเดียวในประเทศที่ไม่สามารถให้นามสกุลแก่โอรส-ธิดาของพระองค์ได้" ในปี พ.ศ. 2503 หลังจากที่พระราชินีแมรีสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2496 และวินสตัน เชอร์ชิลล์ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2498 นามสกุล เมาท์แบตเตน-วินด์เซอร์ จึงใช้แก่ดยุกฟิลิปและกับรัชทายาทบุรุษฝ่ายพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ไม่ได้ถือบรรดาศักดิ์ใด ๆ
ท่ามกลางการตระเตรียมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เจ้าหญิงมาร์กาเรตกราบทูลพระเชษฐภคินีของพระองค์ว่าประสงค์ที่จะเสกสมรสกับปีเตอร์ ทาวเซินด์ พ่อหม้ายลูกติดสองคนซึ่งมีอายุมากว่าพระองค์ 16 ปี พระราชินีนาถจึงทูลขอให้ทรงรอเป็นเวลาหนึ่งปี ตามคำกล่าวของมาร์ติน คาร์เตริสที่กล่าวว่า "พระราชินีนาถทรงมีความเห็นใจต่อเจ้าหญิงมาร์กาเรต แต่ข้าพเจ้าคิดว่าพระองค์ทรงหวังไว้ว่าเวลาจะช่วยทำให้เรื่องนี้เงียบหายไปในที่สุด" ด้านนักการเมืองอาวุโสต่างต่อต้านแนวคิดการเสกสมรสครั้งนี้และคริสตจักรแห่งอังกฤษก็ไม่อนุญาตให้มีการสมรสหลังจากที่หย่าร้างไปแล้ว ซึ่งหากเจ้าหญิงมาร์กาเรตทรงเข้าพิธีสมรสแบบทางราชการ (การสมรสโดยปราศจากพิธีกรรมทางศาสนา) ก็เป็นที่คาดหมายให้สละสิทธิ์ในการสืบราชสมบัติของพระองค์ จนในท้ายที่สุดก็ทรงล้มเลิกแผนการเสกสมรสกับปีเตอร์ ทาวเซินด์ ในปี พ.ศ. 2503 เจ้าหญิงมาร์กาเรตเสกสมรสกับแอนโธนี อาร์มสตรอง-โจนส์ ผู้ซึ่งในปีถัดมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเอิร์ลแห่งสโนว์ดอน ทั้งสองหย่าร้างกันในปี พ.ศ. 2521 และเจ้าหญิงมาร์กาเรตก็มิเสกสมรสกับบุคคลใดอีกเลย
ทั้งที่สมเด็จพระราชินีแมรีสิ้นพระชนม์ลงในวันที่ 24 มีนาคม แต่แผนการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็ยังคงดำเนินต่อไปตามที่ทรงร้องขอไว้ก่อนสิ้นพระชนม์ โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2496 ณ เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ ซึ่งเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์ โดยยกเว้นการถ่ายทอดพิธีเจิมและพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์[note 3] ฉลองพระองค์ในพระราชพิธีได้รับการออกแบบและตัดเย็บโดยนอร์มัน ฮาร์ตเนลล์ ซึ่งประดับด้วยลายพรรณพืชของประเทศในเครือจักรภพตามคำแนะนำของพระราชินีนาถ อันประกอบไปด้วย: กุหลาบทิวดอร์แห่งอังกฤษ; ดอกทริสเติลแห่งสกอตแลนด์; กระเทียมต้นแห่งเวลส์; ดอกแฌมร็อคแห่งไอร์แลนด์; ดอกแวทเทิลแห่งออสเตรเลีย; ใบเมเปิลแห่งแคนาดา; ใบเฟิร์นสีเงินแห่งนิวซีแลนด์; ดอกโพรทีแห่งแอฟริกาใต้; ดอกบัวหลวงแห่งอินเดียและศรีลังกา รวมไปถึงข้าวสาลี, ฝ้าย และปอกระเจาแห่งปากีสถาน
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทอดพระเนตรเห็นการเปลี่ยนแปลงของจักรวรรดิอังกฤษไปสู่เครือจักรภพแห่งประชาชาติตลอดช่วงพระชนม์ชีพของพระองค์ ตั้งแต่การเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2495 ตำแหน่งพระประมุขของรัฐอธิปไตยหลากหลายรัฐก็สถาปนาขึ้นไว้แล้ว ซึ่งตลอดช่วงปี พ.ศ. 2496 - 2497 พระองค์และพระราชสวามีได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ รอบโลกเป็นเวลาหกเดือน เป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์แห่งออสเตรเลียและพระมหากษัตริย์แห่งนิวซีแลนด์เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศของพระองค์ขณะทรงครองราชย์อยู่ ประมาณกันว่าสามในสี่ของประชาชนชาวออสเตรเลียได้พบเห็นสมเด็จพระราชินีนาถของตนระหว่างช่วงการเสด็จพระราชดำเนินเยือน เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศทั้งที่ใช่และไม่ใช่ประเทศเครือจักรภพมากมายตลอดช่วงรัชสมัยของพระองค์ และเป็นพระประมุขแห่งรัฐที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศมากที่สุดในประวัติศาสตร์
ในปี พ.ศ. 2499 นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส กี มอแล และนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เซอร์ แอนโธนี อีเดน ร่วมหารือถึงความเป็นไปได้ที่ฝรั่งเศสจะเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกเครือจักรภพ แนวคิดดังกล่าวได้รับการปฏิเสธและในปีถัดมาฝรั่งเศสก็ร่วมลงนามในสนธิสัญญาโรมจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งจะนำไปสู่การก่อตั้งสหภาพยุโรปในภายหลัง ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2499 สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสเข้ารุกรานอียิปต์ในความพยายามทางการทหารที่ล้มเหลวในการยึดคลองสุเอซ ลอร์ดเมาท์แบตเตนกล่าวว่าพระราชินีนาถทรงต่อต้านการรุกรานครั้งนั้น ซึ่งเซอร์ แอนโธนี อีเดน ปฏิเสธคำพูดดังกล่าวและลาออกในอีกสองเดือนถัดมา
กลไกในการเลือกผู้นำคนใหม่ของพรรคอนุรักษนิยมที่หยุดชะงักลง หมายความว่าหลังการลาออกของเซอร์ แอนโธนี อีเดน เป็นพระราชภาระของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่จะต้องทรงเลือกว่าใครควรที่จะเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เซอร์ แอนโธนี ได้ถวายคำแนะนำแด่พระองค์ให้ทรงปรึกษากับลอร์ดซอลส์บรี, ประธานสภาองคมนตรี ลอร์ดซอลส์บรีและลอร์ดคิลเมียร์ (ขณะนั้นดำรงรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม) ก็ได้ไปปรึกษากับคณะรัฐมนตรี, วินสตัน เชอร์ชิลล์ และคณะกรรมธิการ 1922 (1922 Committee) จนในที่สุดก็ได้จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เฮโรลด์ แมคมิลแลน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับการถวายคำแนะนำมา
วิกฤตการณ์คลองสุเอซและการเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งของเซอร์ แอนโธนี นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในตัวพระราชินีนาถครั้งใหญ่ครั้งแรก ลอร์ดอัลตรินแชมกล่าวหาว่าพระองค์ทรง "กู่ไม่กลับ" ในนิตยสารที่เขาเป็นเจ้าของและเป็นบรรณาธิการเอง ต่อเขาจึงถูกประณามโดยบุคคลที่มีชื่อเสียงและถูกทำร้ายร่างกายโดยสาธารณชนผู้ตกตะลึงกับคำกล่าวของเขา หกปีถัดมาในปี พ.ศ. 2506 เฮโรลด์ แมคมิลแลน ลาออกและถวายการแนะนำให้ทรงเลือกเซอร์ อเลค ดักลาส-ฮูม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนถัดไป ซึ่งพระองค์ก็ทรงทำตามคำแนะนำ ทำให้พระองค์ถูกวิจารณ์อีกครั้งว่าทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามคำแนะนำของรัฐมนตรีเพียงไม่กี่คนหรือเพียงคนเดียวเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2508 พรรคอนุรักษนิยมจึงกลับมาใช้กลไกลเลือกตั้งผู้นำพรรคอย่างเป็นทางการ จึงช่วยลดพระราชภาระอันข้องเกี่ยวกับทางการเมืองของพระราชินีนาถลง
ในปี พ.ศ. 2500 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ที่ซึ่งทรงกล่าวสุนทรพจน์ต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในนามของเครือจักรภพแห่งชาติ ในครั้งนั้นยังได้เสด็จฯ ไปเปิดการประชุมรัฐสภาแคนาดาสมัยที่ 23 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์แห่งแคนาดาเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดการประชุมของรัฐสภา สองปีถัดมา เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและแคนาดาผู้เดียวในฐานะสมเด็จพระราชินีนาถแห่งแคนาดาอีกครั้ง ที่ซึ่งทรงทราบจากการลงจอดของเครื่องบินที่ประทับ ณ สนามบินเซนต์จอห์นนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ว่าทรงพระครรภ์รัชทายาทองค์ที่สามอยู่ ในปี พ.ศ. 2504 เสด็จพระราชดำเนินเยือนไซปรัส, อินเดีย, ปากีสถาน, เนปาล และอิหร่าน ในช่วงการเสด็จพระราชดำเนินเยือนกานาในปีเดียวกัน ทรงเพิกเฉยต่อความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของพระองค์ หลังจากที่ผู้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ก็คือประธานาธิบดีกวาเม อึนกรูมา ตกเป็นเป้าลอบสังหาร ซึ่งเขาเป็นผู้ที่เปลี่ยนประมุขแห่งรัฐของกานาจากพระราชินีนาถมาเป็นตัวเขาเอง เฮโรลด์ แมคมิลแลน เขียนไว้ว่า "สมเด็จพระราชินีนาถทรงพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ... ทรงอดทนต่อทัศนคติที่มีต่อพระองค์ ที่ปฏิบัติต่อพระองค์ราวกับว่าเป็น ... ดาราภาพยนตร์ ... ซึ่งแท้ที่จริงแล้วพระองค์ประดุจเป็นดังชายชาติบุรุษ ... ทรงรักในพระราชกรณียกิจของพระองค์และทรงเจตนาที่จะเป็นพระราชินีนาถอย่างแน่วแน่" ต่อมาก่อนการเสด็จฯ เยือนควิเบกในปี พ.ศ. 2507 สื่อรายงานข่าวว่าขบวนการแบ่งแยกควิเบกหัวรุนแรงวางแผนลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระราชินีนาถ อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏเหตุการณ์ดังกล่าวตามที่มีรายงานออกมา มีเพียงการก่อจลาจลระหว่างเสด็จฯ เยือนมอนทรีออล; ครั้งนั้น "ความสุขุมและความกล้าเชิญหน้ากับความรุนแรง" ของพระองค์ยังคงเป็นที่จดจำ
ในช่วงที่ทรงพระครรภ์เจ้าชายแอนดรูว์และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดในปี พ.ศ. 2502 และ พ.ศ. 2506 เป็นช่วงที่ยังมิได้เสด็จฯ ไปเปิดประชุมรัฐสภาสหราชอาณาจักรด้วยพระองค์เป็นครั้งแรกในรัชกาลของพระองค์ นอกจากนี้ยังทรงริเริ่มระเบียบประเพณีใหม่ด้วยการเสด็จพระราชดำเนินพบปะกับประชาชนที่มาเฝ้ารอเสด็จฯ อย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรกในช่วงของการเสด็จฯ เยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ พ.ศ. 2513
ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970 เป็นช่วงที่สหราชอาณาจักรมอบเอกราชให้แก่ประเทศแถบทวีปแอฟริกาและแถบทะเลแคริบเบียน มากกว่า 20 ประเทศได้รับเอกราชอันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปกครองตนเอง อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2508 นายกรัฐมนตรีแห่งโรดีเซีย เอียน สมิธ ต่อต้านการเปลี่ยนผ่านนี้ โดยประกาศเอกราชจากสหราชอาณาจักรฝ่ายเดียวในขณะที่ยังคงแสดง "ความจงรักภักดีและความอุทิศตน" ต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แม้ว่าพระองค์จะทรงเพิกเฉยต่อคำประกาศนี้ในทางสาธารณะก็ตาม ซึ่งปฏิกิริยาจากประชาคมระดับนานาชาติก็คือการคว่ำบาตรต่อโรดีเซีย แม้กระนั้นการบริหารประเทศของเอียน สมิธ ก็ยังสามารถอยู่รอดมาได้เกือบทศวรรษ
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร เอ็ดวาร์ด ฮีธ ทูลเกล้าให้ทรงยุบสภาและจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในขณะที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกในออสเตรเลีย ทำให้ทรงต้องเสด็จฯ กลับสหราชอาณาจักร ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าไม่มีพรรคใดได้เสียงมากพอจะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ พรรคอนุรักษนิยมของฮีธไม่ได้รับเลือกให้มีเสียงมากที่สุดในสภา แต่ยังสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคเสรีประชาธิปไตยได้ ซึ่งฮีธเลือกที่จะลาออกหลังจากการเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ สมเด็จพระราชินีนาถจึงทรงมีกระแสรับสั่งให้พรรคฝ่ายค้านในรัฐสภา พรรคแรงงานของนายเฮโรลด์ วิลสัน จัดตั้งรัฐบาล
ในปีถัดมาในช่วงตึงเครียดที่สุดของวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญของออสเตรเลีย พ.ศ. 2518 นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กอฟ วิทแลม ถูกปลดออกจากตำแหน่งโดยผู้สำเร็จราชการ เซอร์ จอห์น เคอร์ หลังจากที่วุฒิสภาออสเตรเลียซึ่งฝ่ายค้านมีเสียงส่วนใหญ่ไม่ผ่านร่างงบประมาณที่เสนอโดยวิทแลม และเนื่องจากวิทแลมมีเสียงส่วนมากในสภาผู้แทนราษฎรออสเตรเลีย โฆษกประจำสภาผู้แทนราษฎร กอร์ดอน สโคลส์ จึงทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาแด่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ให้ทรงเพิกถอนคำสั่งปลดของเซอร์ จอห์น เคอร์ แต่สมเด็จพระราชินีนาถทรงปฏิเสธฎีกาดังกล่าว โดยตรัสว่าจะมิทรงเข้าแทรกแซงอำนาจการตัดสินใจของผู้สำเร็จราชการแห่งออสเตรเลียซึ่งรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งออสเตรเลีย ซึ่งวิกฤตการณ์ในครั้งนี้เท่ากับเป็นการเติมเชื้อไฟให้แก่แนวคิดสาธารณรัฐนิยมในออสเตรเลีย
ในปี พ.ศ. 2520 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปีในพระราชพิธีรัชดาภิเษก การเฉลิมฉลองและงานรื่นเริงต่าง ๆ จัดขึ้นทั่วทุกหนแห่งในประเทศเครือจักรภพ และหลายแห่งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมงาน การเฉลิมฉลองเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันถึงความนิยมในตัวพระองค์ของเหล่าพสกนิกร แม้ว่าจะมีการนำเสนอข่าวด้านลบเกี่ยวกับชีวิตคู่ที่ล้มเหลวของเจ้าหญิงมาร์กาเรตกับพระสวามีออกมาประจวบเหมาะกับช่วงเวลาดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2521 ทรงต้องฝืนพระองค์ให้การต้อนรับการเดินทางมาเยือนสหราชอาณาจักรของผู้นำเผด็จการคอมมิวนิสต์แห่งโรมาเนีย นิโคไล เชาเชสกู พร้อมด้วยภริยา เอเลนา เชาเชสกู ซึ่งในพระทัยก็ทรงมองว่าทั้งสองเป็นพวก "มือเปื้อนเลือด" ในปีถัดมามีเหตุการณ์สองเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์: เหตุการณ์แรกคือการเปิดโปง แอนโทนี บลันท์ อดีตผู้กลั่นกรองพระบรมฉายาลักษณ์ส่วนพระองค์ ว่าเป็นสายลับคอมมิวนิสต์ อีกเหตุการณ์ก็คือการลอบสังหารหลุยส์ เมาท์แบตเตน เอิร์ลเมาท์แบตเตนที่ 1 แห่งพม่า โดยกองกำลังติดอาวุธไออาร์เอ (Provisional Irish Republican Army; IRA)
ตามคำกล่าวอ้างของพอล มาร์ติน ซีเนียร์. ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 พระราชินีนาถทรงกังวลว่าสถาบันกษัตริย์ "มีความหมายเพียงน้อยนิด" สำหรับนายกรัฐมนตรีแคนาดา ปีแยร์ ตรูโด โทนี เบนน์ กล่าวว่าในสายพระเนตรของพระองค์ ปีแยร์ ตรูโด "ค่อนข้างน่าผิดหวัง" ซึ่งแนวคิดสาธารณรัฐนิยมของปีแยร์เป็นที่แน่ชัดขึ้นจากท่าทีแสดงการล้อเลียนของเขา เช่น การลื่นไถลตัวเขาเองไปตามราวบันใดในพระราชวังบักกิงแฮม และการเต้นบัลเลต์ท่าหมุนรอบตัวเองอยู่ด้านหลังของพระราชินีนาถในปี พ.ศ. 2520 รวมไปถึงการที่เขาถอดถอนสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์แคนาดาหลายประการตลอดช่วงที่ดำรงตำแหน่ง ในปี พ.ศ. 2523 นักการเมืองแคนาดาหลายคนได้รับการส่งไปกรุงลอนดอนในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งแคนาดา พวกเขาพบว่าพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรง "มีความรู้ความเข้าใจ ... มากกว่านักการเมืองหรือข้าราชการชาวอังกฤษเป็นไหน ๆ " ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยกับการแก้ไขครั้งนี้โดยเฉพาะหลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติซี-60 (Bill C-60) ไม่ผ่านรัฐสภา ซึ่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอาจมีผลต่อพระราชสถานะประมุขแห่งรัฐของพระองค์ การแก้ไขดังกล่าวเพิกถอนบทบาทของรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรที่มีต่อรัฐธรรมนูญแห่งแคนาดาแต่ยังคงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ปีแยร์กล่าวว่าในความทรงจำของเขาพระราชินีนาถทรงเห็นชอบกับความพยายามของเขาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเขาประทับใจใน "พระจริยวัตรอันสง่างามที่ทรงแสดงต่อสาธารณชน" และ "พระอัจฉริยะภาพอันปราดเปรื่องที่ทรงแสดงเป็นการส่วนพระองค์"
ในช่วงของพิธีสวนสนามเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ. 2524 ซึ่งเป็นเวลาเพียงหกสัปดาห์ก่อนพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายแห่งเวลส์กับเลดีไดอานา สเปนเซอร์ มีเสียงปืนดังขึ้นหกนัด โดยปืนเล็งไปที่สมเด็จพระราชินีนาถในระยะประชิดขณะทรงม้าไปตามถนนเดอะมอลล์บนม้าทรงชื่อเบอร์มีส ภายหลังตำรวจสืบทราบว่าปืนกระบอกดังกล่าวบรรจุกระสุนเปล่า ผู้ก่อเกตุเป็นเด็กชายอายุ 17 ปีนามว่า มาร์คัส ซาร์เจนต์ ซึ่งถูกตัดสินจำคุกห้าปีและได้รับการปล่อยตัวหลังเวลาผ่านไปสามปี นอกจากนี้ความสงบและทักษะด้านการควบคุมม้าทรงของพระองค์ในเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่กล่าวสรรเสริญไปทั่ว ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกันยายน พ.ศ. 2525 ทรงกระวนกระวายพระราชหฤทัยแต่ก็ทรงภูมิใจที่พระราชโอรส เจ้าชายแอนดรูว์ทรงรับใช้ชาติในกองทัพอังกฤษในช่วงสงครามฟอล์กแลนด์ ในวันที่ 9 กรกฎาคม ทรงตื่นจากพระบรรทมในพระราชวังบักกิงแฮมและพบว่าไมเคิล เฟแกน บุกรุกเข้ามาในห้องพระบรรทม ทรงมีท่าทีสงบและทรงโทรเรียกตำรวจพระราชวังผ่านทางแผงไฟถึงสองครั้ง ทรงพูดคุยกับไมเคิลผู้ซึ่งนั่งอยู่ปลายแท่นพระบรรทมอยู่นานเจ็ดนาทีก่อนที่ความช่วยเหลือจะมาถึง แม้ว่าจะทรงให้การต้อนรับประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ณ พระราชวังวินด์เซอร์ในปี พ.ศ. 2525 และเคยเสด็จฯ ไปเยือนบ้านพักส่วนตัวของประธานาธิบดีในแคลิฟอร์เนียในปี พ.ศ. 2526 แต่ก็ทรงกริ้วอย่างมากเมื่อคณะทำงานของประธานาธิบดีเรแกนมีคำสั่งบุกเกรนาดาซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเครือจักรภพโดยไม่ได้มีการแจ้งให้พระองค์ทราบ
ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 เกิดความสนใจอย่างแรงกล้าของสื่อมวลชนในพระราชอัธยาศัยและพระราชกิจวัตรประจำวันของพระบรมวงศานุวงศ์ นำไปสู่การเผยแพร่เรื่องราวเหลือเชื่อมากมาย ซึ่งแต่ละเรื่องไม่ถูกต้องอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เช่นที่เคลวิน แมคเคนซี บรรณาธิการประจำหนังสือพิมพ์ เดอะซัน กล่าวกับลูกน้องของเขาว่า "เอาข่าวสาดโคลนเกี่ยวกับราชวงศ์สำหรับตีพิมพ์วันจันทร์มาให้ฉันทีสิ ไม่ต้องห่วงถ้าข่าวนั้นจะไม่เป็นความจริง-ตราบใดที่ช่วงหลังมานี้ยังคงไม่มีข่าวซุบซิบราชวงศ์ออกมา" ด้านบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ โดนัลด์ เทรลฟอร์ดเขียนในหนังสือพิมพ์ ดิออบเซิร์ฟเวอร์ ฉบับวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2529 ว่า "ละครน้ำเน่าเกี่ยวกับพระราชวงศ์บัดนี้ได้มาถึงจุดที่เส้นแบ่งระหว่างข้อเท็จจริงกับนิยายถูกเลือนหาย ... ไม่ใช่เพียงแค่บางหนังสือพิมพ์ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือรับฟังข้อโต้แย้ง แต่พวกเขายังไม่สนใจว่าเรื่องดังกล่าวจะเป็นความจริงหรือไม่อีกด้วย" ในหนังสือพิมพ์ เดอะซันเดย์ไทมส์ ฉบับวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 มีรายงานข่าวอันโด่งดังว่าพระราชินีนาถกังวลพระราชหฤทัยในนโยบายด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมตรีหญิง มาร์กาเรต แทตเชอร์ ว่าจะทำให้สังคมเกิดความแตกแยกซึ่งมีสัญญาณบ่งชี้หลายอย่างเช่น อัตราการว่างงานที่สูง, การก่อจลาจลหลายระลอก, ความรุนแรงจากกลุ่มคนงานเหมืองที่ประท้วงนัดหยุดงาน รวมไปถึงการที่มาร์กาเรตปฏิเสธการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลถือผิวในประเทศแอฟริกาใต้ โดยข่าวลือนี้มีที่มาจากเสนาธิการประจำราชสำนัก ไมเคิล ชีอา และผู้สำเร็จราชการประจำเครือจักรภพ ไชร์ดาท แรมพัล แต่ไมเคิลอ้างว่าคำกล่าวของเขาผิดเพี้ยนไปจากบริบทและถูกเสริมแต่งจากการคาดการณ์ส่วนตัวต่อมาคำกล่าวของมาร์กาเรตก็เป็นที่โจทก์ขานกันไปทั่วเมื่อเธอกล่าวว่า "สมเด็จพระราชินีนาถจะทรงลงคะแนนเสียงให้แก่พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย" ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งของเธอ นักชีวประวัติของมาร์กาเรต แทตเชอร์ จอห์น แคมป์เบล อ้างว่า "รายงานชิ้นดังกล่าวเป็นเพียงการสร้างความเสื่อมเสียจากการสื่อสารมวลชน" ซึ่งเกิดจากการที่สื่อรายงานผิดเพี้ยนจากความจริงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ในภายหลังมาร์กาเรต แทตเชอร์จึงแสดงความชื่นชมของเธอที่มีต่อพระราชินีนาถออกมา และหลังจากที่มาร์กาเรต แทตเชอร์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยมีจอห์น เมเจอร์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็ได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เมริตและเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์แด่มาร์กาเรต แทตเชอร์ เป็นของขวัญพระราชทาน นอกจานี้อดีตนายกรัฐมนตรีแคนาดา ไบรอัน มัลรอนีย์ กล่าวว่าพระองค์เป็น "พลังขับเคลื่อนเบื่องหลัง" ในการยุติการถือผิวในประเทศแอฟริกาใต้
ในปี พ.ศ. 2530 ในแคนาดา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระราชดำรัสว่าทรงสนับสนุนข้อตกลงมีชเลค (Meech Lake Accord) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สร้างความแตกแยกทางการเมือง เป็นข้อตกลงที่โน้มน้าวให้รัฐควิเบกยอมรับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2525 และยังคงเป็นส่วนหนึ่งของแคนาดาต่อไป ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น อดีตนายกรัฐมนตรีปีแยร์ ตรูโด ในปีเดียวกันนั้นเองที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของฟิจิถูกรัฐประหารโดยกองทัพ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ฟิจิ ให้การสนับสนุนผู้สำเร็จราชการแห่งฟิจิ เพเนเอีย กานิเลา ในการพยายามเจรจาประนีประนอมและยันยันถึงสิทธิ์อันชอบธรรมของรัฐบาล แต่ผู้นำการปฏิวัติ ซิติเวนี ราบูกา กลับเนรเทศผู้สำเร็จราชการและประกาศให้ฟิจิเป็นสาธารณรัฐ ต่อมาในช่วงต้นของปี พ.ศ. 2534 แนวคิดสาธารณรัฐนิยมในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นจากรายงานตัวเลขคาดการณ์พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถซึ่งถูกโต้แย้งโดยสำนักพระราชวัง รวมไปถึงข่าวชีวิตคู่ที่ล้มเหลวของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ นอกจากนี้ความเกี่ยวข้องกับเกมโชว์การกุศล อิตส์รอยัลน็อคเอาต์ ของราชนิกุลรุ่นเยาว์ได้รับการเย้ยหยัน และสมเด็จพระราชินีนาถก็ทรงตกเป็นเป้าของการเสียดสีล้อเลียน
ในปี พ.ศ. 2534 ช่วงที่อังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้รับชัยชนะในสงครามอ่าวเปอร์เซีย สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาอีกครั้งและเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรพระองค์แรกที่ได้มีพระราชดำรัสแก่ที่ประชุมร่วมของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา
ในพระราชดำรัสวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 เนื่องในวโรกาสครองราชสมบัติครบ 40 ปี ทรงกล่าวว่าปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) เป็น แอนนัสฮอริบิลิส (ละติน: annus horribilis; ปีแห่งความเลวร้าย) ของพระองค์เนื่องจากมีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นมากมาย ดังนี้: ในเดือนมีนาคม พระราชโอรสองค์ที่สอง เจ้าชายแอนดรูว์ทรงหย่าร้างกับซาราห์ ดัชเชสแห่งยอร์ก ต่อมาในเดือนเมษายน เจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี ก็ทรงหย่าร้างกับพระสวามี มาร์ก ฟิลลิปส์; ในช่วงการเสด็จพระราชดำเนินเยือนเยอรมนีในเดือนตุลาคม กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงผู้โกรธแค้นในเดรสเดินปาไข่ไก่ใส่พระองค์ สาเหตุมาจากปมการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรในเดรสเดินช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปราว 25,000 คน; ในเดือนพฤศจิกายน พระราชวังวินด์เซอร์ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุอัคคีภัย ด้านสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ได้รับเสียงวิพากษวิจารณ์และการจับจ้องจากสาธารณชนมากขึ้น ในพระราชดำรัสส่วนพระองค์ซึ่งค่อนข้างจากผิดแปลกไปจากปกติ ทรงกล่าวว่าทุก ๆ สถาบันล้วนแล้วแต่ต้องได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่เว้นแม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ แต่การวิพากษ์วิจารณ์ควรกระทำขึ้นบนพื้นฐานของ "อารมณ์ขัน, ความนุ่มนวล และความเข้าอกเข้าใจ" สองวันถัดมา นายกรัฐมนตรีจอห์น เมเจอร์ ประกาศแผนปฏิรูปการเงินของพระราชวงศ์ซึ่งตระเตรียมไว้ตั้งแต่ปีก่อนหน้า ในแผนดังกล่าวประกอบด้วยการปฏิรูปต่าง ๆ เช่น การที่สมเด็จพระราชินีนาถจะต้องทรงชำระภาษีเงินได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นไป และการตัดลดงบประมาณรายจ่ายสำหรับพระมหากษัตริย์ (Civil list) ในเดือนธันวาคม เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ และไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ทรงแยกกันอย่างเป็นทางการ ในช่วงวันท้าย ๆ ของปี พ.ศ. 2535 สมเด็จพระราชินีนาถทรงฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ เดอะซัน ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ตีพิมพ์ร่างกระแสพระราชดำรัสเนื่องในวันคริสต์มาสสองวันก่อนการออกอากาศทางโทรทัศน์อย่างเป็นทางการ ศาลตัดสินให้หนังสือพิมพ์จ่ายเงินชดเชยแก่พระองค์ตามกฎหมายและบริจาคเงินให้การกุศลกว่า 200,000 ปอนด์
ในปีถัดมาการเปิดเผยเรื่องราวของเจ้าชายชาลส์และเจ้าหญิงไดอานาต่อสาธารณชนยังคงดำเนินต่อไป ด้านการเมืองแม้ว่ากระแสสาธารณรัฐนิยมจะมีมากกว่าช่วงใด ๆ ในความทรงจำของพระองค์ แต่ประชาชนที่มีแนวคิดเช่นนี้ก็ยังคงเป็นกลุ่มคนส่วนน้อยของสังคม อีกทั้งการยอมรับสมเด็จพระราชินีนาถของสังคมก็ยังคงมีอยู่สูง การวิพากษ์วิจารณ์เปลี่ยนจากการจับจ้องแต่เพียงพระราชจริยวัตรและพระราชอัธยาศัยของพระราชินีนาถมาเป็นการจับจ้องสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในภาพรวมในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2538 หลังจากทรงปรึกษากับนายกรัฐมนตรีจอห์น เมเจอร์, อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี จอร์จ เครีย์, ราชเลขาธิการส่วนพระองค์ โรเบิร์ต เฟลโลว์ส และเจ้าชายฟิลิป พระราชสวามี จึงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าชายชาลส์และเจ้าหญิงไดอานาว่าโปรดจะให้มีการหย่าร้างอย่างเป็นทางการ หนึ่งปีหลังจากการหย่าร้างซึ่งมีขึ้นในปี พ.ศ. 2539 ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ สิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในกรุงปารีส 31 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งพระราชินีนาถทรงอยู่ระหว่างการพักร้อนที่ปราสาทบาลมอรัลกับพระราชโอรสและพระราชปนัดดา ในขณะนั้นพระโอรสทั้งสองของเจ้าหญิงไดอานาโปรดที่จะเสด็จไปยังโบสถ์ ดังนั้นพระราชินีนาถและเจ้าชายฟิลิปจึงนำเสด็จฯ ไปยังโบสถ์ในตอนเช้า หลังจากการปรากฏพระองค์ในครั้งนั้น ห้าวันต่อมาพระราชินีนาถและเจ้าชายฟิลิปก็ทรงปิดกั้นพระปนัดดาทั้งสองจากสื่อที่ให้ความสนใจต่อเหตุการณ์นี้อย่างล้นหลาม โดยประทับ ณ ปราสาทบาลมอรัลที่ซึ่งจะได้ใช้เวลาแห่งความโศกเศร้าเป็นการส่วนพระองค์ แต่การปิดกั้นตัวเองจากสาธารณชนของพระบรมวงศานุวงศ์พระราชวังบักกิงแฮมไม่ได้ลดธงลงครึ่งเสาสร้างความไม่พอใจแก่สาธารณชนเป็นอย่างมาก ต่อมาหลังจากที่ทรงรับทราบกระแสความไม่พอใจ พระราชินีนาถจึงเสด็จฯ กลับลอนดอนและมีพระราชดำรัสแก่ประชาชนซึ่งแพร่ภาพสดไปทั่วโลกในวันที่ 5 กันยายน หนึ่งวันก่อนพระราชพิธีพระศพของเจ้าหญิงไดอานาจะมีขึ้น ในกระแสพระราชดำรัสทรงกล่าวชื่นชมเจ้าหญิงไดอานาและความรู้สึกในฐานะ "พระอัยยิกา" ของเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี เป็นผลให้กระแสความไม่พอใจของสาธารณชนที่มีต่อพระบรมวงศานุวงศ์คลี่คลายลง
ปี พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นปีเฉลิมฉลองพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เจ้าหญิงมาร์กาเรต เคาน์เตสแห่งสโนว์ดอน พระขณิษฐา สิ้นพระชนม์ในเดือนกุมภาพันธ์ ตามมาด้วยการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี ในเดือนมีนาคม ทำให้สื่อตั้งคำถามว่าพระราชพิธีกาญจนาภิเษกในปีนี้จะประสบกับความสำเร็จหรือความล้มเหลว และเป็นอีกครั้งที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเครือจักรภพ โดยเริ่มต้นขึ้นที่จาเมกาในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ซึ่งตรัสเรียกการเสด็จฯ ครั้งนั้นว่า "เป็นที่จดจำ" หลังจากที่เกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องจนมืดสนิทไปทั่วบริเวณงานเลี้ยงส่งเสด็จฯ ณ พระตำหนักคิงส์เฮาส์ ซึ่งเป็นที่พำนักอย่างเป็นทางการของผู้สำเร็จราชการแห่งจาเมกา ในงานเฉลิมฉลองการครองราชสมบัติครบ 50 ปีในครั้งนี้ มีการเฉลิมฉลองและงานเลี้ยงสังสรรค์บนท้องถนนมากมายเช่นเดียวกับครั้งที่เฉลิมฉลองพระราชพิธีรัชดาภิเษกในปี พ.ศ. 2520 มีอนุสาวรีย์ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกการเฉลิมฉลองในครั้งนี้มากมาย และประชาชนกว่าล้านคนออกมาเฉลิมฉลองในงานเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการสามวันของกรุงลอนดอน ซึ่งความสนใจของประชาชนต่อพระราชินีนาถและพระราชพิธีนี้มีมากกว่าที่สื่อส่วนมากคาดการณ์ไว้
แม้ว่าจะมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรงมาตลอดช่วงพระชนม์ชีพ แต่ในปี พ.ศ. 2546 ทรงเข้ารับการผ่าตัดส่องกล้องบริเวณพระชานุ (เข่า) ทั้งสองข้าง ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 ก็มิได้เสด็จฯ ไปในงานเปิดสนามเอมิเรตส์สเตเดียมด้วยเพราะทรงมีอาการกล้ามพระมังสาหลัง (กล้ามเนื้อหลัง) รัดแน่น ซึ่งทรงมีอาการดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงฤดูร้อน สองเดือนต่อมา เสด็จฯ ออกปรากฏพระองค์ต่อสาธารณชนโดยมีแถบปิดแผลที่บริเวณพระหัตถ์ขวา ทำให้สื่อคาดการณ์กันถึงพระพลานามัยที่เสื่อมลง ต่อมาก็ทรงถูกกัดโดยหนึ่งในสุนัขพันธุ์คอร์กีที่ทรงเลี้ยงไว้เพราะทรงพยายามแยกสุนัขทรงเลี้ยงทั้งสองขณะกำลังกัดกันออกจากกัน
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 หนังสือพิมพ์ เดอะเดลีย์เทเลกราฟ รายงานอ้างจากแหล่งข่าวผู้ประสงค์จะไม่ออกนามว่าพระราชินีนาถทรง "ขุ่นเคืองและผิดหวัง" จากนโยบายของนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ และกังวลพระทัยจากการที่กองทัพสหราชอาณาจักรเข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งในอิรักและอัฟกานิสถานมากเกินไป อีกทั้งยังกังวลพระทัยจากประเด็นปัญหาในแถบชนบทและทุรกันดารกับโทนี แบลร์ ซ้ำไปซ้ำมา อย่างไรก็ตาม ทรงชื่นชมโทนี แบลร์ ในความพยายามแสวงหาสันติภาพในไอร์แลนด์เหนือของเขา ในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2551 ณ มหาวิหารเซนต์แทริค อาร์มาจ์ ของคริสจักรแห่งไอร์แลนด์ ทรงเข้าร่วมพระราชพิธีวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ (Royal Maundy) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นนอกอังกฤษและเวลส์ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 เสด็จพระราชดำเนินเยือนไอร์แลนด์ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานาธิบดีแมรี แมคอาลีส์ ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐไอร์แลนด์เป็นครั้งแรกของพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระราชดำรัส ณ ที่สมัชชาใหญ่สหประชาชาติเป็นครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2553 ในฐานะที่เป็นพระประมุขแห่งประเทศเครือจักรภพเลขาธิการสหประชาชาติ พัน กีมุน กล่าวสดุดีพระองค์ว่าเป็น "เสาหลักสำหรับยุคของเรา" ในระหว่างการเสด็จฯ เยือนนครนิวยอร์กซึ่งตามมาด้วยการเสด็จฯ เยือนแคนาดา เสด็จฯ ไปทรงเปิดสวนอนุสรณ์ระลึกถึงเหยื่อผู้เสียชีวิตชาวอังกฤษจากเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ต่อมาเสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรเลียในปีเดียวกัน ซึ่งเป็นครั้งที่ 16 นับตั้งแต่ พ.ศ. 2497 และได้รับการขนานนามจากสื่อว่าเป็น "การเสด็จฯ เยือนอำลา" เนื่องจากพระองค์มีพระพรรษามากแล้ว
ในปี พ.ศ. 2555 เป็นปีที่ทรงเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี (พระราชพิธีพัชราภิเษกแบบอังกฤษ) ซึ่งจัดขึ้นในทุกประเทศเครือจักรภพ ในกระแสพระราชดำรัสที่เผยแพร่ในวันคล้ายวันเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงกล่าวว่า: "ในปีแห่งความพิเศษนี้ ขณะที่ข้าพเจ้าอุทิศตัวเองรับใช้พวกท่านทั้งหลายอีกครั้ง ข้าพเจ้าหวังว่าพวกเราทุกคนจะยังคงระลึกถึงพลานุภาพของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และการรวบรวมพละกำลังของครอบครัว, มิตรภาพ และความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ... ข้าพเจ้าหวังว่าในปีพัชราภิเษกนี้จะเป็นปีสำหรับการมอบคำขอบคุณสำหรับความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2495 และมองไปยังอนาคตด้วยหัวสมองอันปลอดโปร่งและหัวใจอันอบอุ่น" พระองค์และพระราชสวามีได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนไปทั่วสหราชอาณาจักร ในขณะที่พระราชโอรส-ธิดาและพระราชนัดดาหลายพระองค์ เสด็จเยือนประเทศในเครือจักรภพอื่น ๆ ในพระนามของสมเด็จพระราชินีนาถ ต่อมาในวันที่ 4 มิถุนายน ดวงประทีปแห่งการเฉลิมฉลองก็จุดขึ้นทั่วโลก
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรที่มีพระชนมายุมากที่สุดและครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ นอกจากนี้ยังเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงราชย์ยาวนานที่สุดในโลกเป็นลำดับที่สอง (รองจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแห่งราชอาณาจักรไทย) และไม่มีพระราชประสงค์ที่จะสละราชสมบัติ แม้ว่าสัดส่วนของพระราชกรณียกิจสาธารณะของเจ้าชายชาลส์อาจจะเพิ่มขึ้น ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถลดพระราชกรณียกิจสาธารณะของพระองค์ลง
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 ในวันที่ 27 กรกฎาคม และพาราลิมปิกฤดูร้อน 2012 ในวันที่ 29 สิงหาคม ที่จัดขึ้น ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังทรงร่วมแสดงคู่กับแดเนียล เคร็ก ผู้รับบทเป็นสายลับเจมส์ บอนด์ ในภาพยนตร์สั้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 ด้านพระราชบิดา สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ทรงเคยเปิดการแข่งกันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1948 ส่วนพระปัยกา (ปู่ทวด) สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ก็ทรงเคยเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1908 ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเคยเสด็จฯ ไปทรงเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1976 ที่นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดามาแล้วครั้งหนึ่ง ด้านพระราชสวามี เจ้าชายฟิลิป ก็เคยเสด็จฯ ไปทรงเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1956 ที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียด้วยเช่นกัน ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นพระประมุขแห่งรัฐพระองค์แรกที่ได้ทรงเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2 ครั้งใน 2 ประเทศ
ในวันที่ 18 ธันวาคม เสด็จพระราชดำเนินไปร่วมการประชุมของคณะรัฐมนตรี ซึ่งนับเป็นพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักรพระองค์แรกที่เสด็จฯ ไปร่วมการประชุมของคณะรัฐมนตรีในสภาวะไร้สงครามนับตั้งแต่การเสด็จฯ ของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 ในปี พ.ศ. 2324 ต่อมาไม่นานรัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร วิลเลียม เฮก ก็ประกาศให้ดินแดนตอนใต้ของดินแดนแอนตาร์กติกาของสหราชอาณาจักรที่ยังไม่ได้รับการตั้งชื่อเป็น เอลิซาเบธแลนด์ เพื่อเป็นเกียรติแด่สมเด็จพระราชินีนาถ
ในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556 เสด็จฯ ไปประทับในโรงพยาบาลเพื่อการเฝ้าประเมินอย่างใกล้ชิด หลังจากการกำเริบของพระอาการประชวรด้วยโรคกระเพาะอาหารกับลำไส้อักเสบ ก่อนที่จะเสด็จฯ กลับไปประทับ ณ พระราชวังบักกิงแฮมในวันถัดมา
เนื่องจากพระองค์พระราชทานสัมภาษณ์น้อยครั้งทำให้สาธารณชนทราบถึงพระราชอัธยาสัยส่วนพระองค์ได้น้อยมาก และในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่สามารถแสดงทัศนะทางการเมืองส่วนพระองค์ในที่สาธารณะได้ ทรงมีพันธกิจด้านศาสนาและสังคมที่หยั่งรากลึกในพระราชหฤทัย อีกทั้งยังทรงกล่าวพระราชดำรัสสาบานพระองค์ในวันขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติอย่างจริงจัง นอกเหนือจากการที่เป็นประมุขสูงสุดแห่งคริสตจักรแห่งอังกฤษอย่างเป็นทางการแล้ว พระองค์ยังทรงเลื่อมใสในคริสตจักรแห่งอังกฤษและคริสตจักรแห่งสกอตแลนด์เป็นการส่วนพระองค์อีกด้วย และยังทรงแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ทรงมีต่อศาสนาอื่น ๆ ด้วยการพบปะกับผู้นำนิกายและศาสนาต่าง ๆ เช่น การที่ทรงพบปะกับพระสันตะปาปาถึงสามพระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23, สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 และสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ความศรัทธาเลื่อมใสในศาสนาของพระองค์ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งในพระราชดำรัสผ่านทางโทรทัศน์เนื่องในวันคริสต์มาสต์ซึ่งถ่ายทอดไปยังประเทศเครือจักรภพเป็นประจำทุกปี เช่นในปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) ที่มีพระราชดำรัสถึงความสำคัญของคริสต์สหัสวรรษที่ 2 อันเป็นปีที่การประสูติของพระเยซูครบรอบ 2000 ปี ดังนี้
สำหรับพวกเราหลายคน ความเชื่อเป็นหนึ่งในความสำคัญขั้นพื้นฐาน สำหรับข้าพเจ้าแล้ว การสั่งสอนของพระเยซูคริสต์และความรับผิดชอบส่วนตัวของข้าพเจ้าที่มีต่อพระเจ้า ได้นำมาซึ่งแนวทางที่ข้าพเจ้าพยายามจะใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ข้าพเจ้า เฉกเช่นเดียวกับพวกท่านทั้งหลาย ได้รับความสุขสบายในช่วงเวลาที่ยากลำบากจากคำสั่งสอนและตัวอย่างของพระเยซูคริสต์
พระองค์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์องค์กรและมูลนิธิต่างๆ มากกว่า 600 แห่ง ส่วนการพักผ่อนที่ทรงสนพระราชหฤทัยโดยหลัก ๆ ได้แก่ การขี่ม้าและสุนัขทรงเลี้ยง โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์เพ็มโบรคเวลช์คอร์กี ความสนพระราชหฤทัยในสุนัขพันธุ์คอร์กีนี้เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2476 กับสุนัขทรงเลี้ยงที่ชื่อ "ดูกี" ซึ่งเป็นสุนัขพันธุ์คอร์กีตัวแรกที่พระราชวงศ์ของพระองค์ทรงเลี้ยงไว้ นอกจากนี้ ภาพพระราชอิริยาบถส่วนพระองค์ยามพักผ่อนและชีวิตประจำวันส่วนพระองค์ก็มีปรากฏให้เห็นอยู่เป็นครั้งคราว เช่น การที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น ๆ ทรงตระเตรียมพระกระยาหารด้วยกันและทรงล้างจานด้วยกันหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จสิ้น
ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ที่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อยังทรงพระเยาว์ ทรงได้รับการกล่าวขานราวกับเป็น "ราชินีในเทพนิยาย" ภายหลังความชอกช้ำจากสงครามโลก อังกฤษก็เข้าสู่ยุคแห่งความหวัง เป็นช่วงสมัยของการพัฒนาและความสำเร็จที่ได้รับการขนานนามว่า "สมัยเอลิซาเบธใหม่" ลอร์ดอัลตรินแชมกล่าวหาพระราชดำรัสของพระองค์ในปี พ.ศ. 2500 ว่าฟังเหมือนกับเสียงของ "เด็กนักเรียนหญิงผู้โอ้อวด" ซึ่งเป็นคำวิจารณ์ที่พบได้น้อยครั้งมาก ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1960 มีความพยายามมากขึ้นในการสร้างภาพราชวงศ์ยุคใหม่ในสารคดีโทรทัศน์เรื่อง "รอยัลแฟมิลี" ซึ่งอำพรางเจ้าชายชาลส์ด้วยพระนาม "เจ้าชายแห่งเวลส์" พระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงฉลองพระองค์ในที่สาธารณะด้วยฉลองพระองค์ที่ส่วนใหญ่เป็นสีเดียวพร้อมด้วยพระมาลา (หมวก) ประดับลูกไม้ ทำให้ประชาชนสามารถสังเกตเห็นพระองค์ได้โดยง่าย
ในพระราชพิธีรัชดาภิเษก พ.ศ. 2520 ฝูงชนและการเฉลิมฉลองนับว่ามีชีวิตชีวาอย่างแท้จริง แต่ถัดมาในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 เสียงวิพากษ์วิจารณ์พระราชวงศ์เพิ่มมากขึ้นจากการที่ชีวิตส่วนพระองค์และชีวิตการทรงงานของบรรดาพระราชโอรส-พระราชธิดาอยู่ภายใต้การพินิจพิเคราะห์ของสื่อ ความนิยมของประชาชนต่อสมเด็จพระราชินีนาถตกต่ำถึงขีดสุดในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 และด้วยแรงกดดันจากความคิดเห็นของสาธารณชน พระองค์จึงทรงเริ่มชำระภาษีเงินได้เป็นครั้งแรก อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่พระราชวังบักกิงแฮมเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชม ความไม่พอใจต่อระบอบกษัตริย์ดำเนินมาถึงจุดสูงสุดเมื่อไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์สิ้นพระชนม์ แม้กระนั้นก็ตาม ความนิยมในสมเด็จพระราชินีนาถและแรงสนับสนุนในระบอบกษัตริย์ก็ฟื้นคืนกลับมาหลังพระองค์มีพระราชดำรัสถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ไปทั่วโลกหลังจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ 5 วัน
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2542 มีการลงประชามติในออสเตรเลียว่าด้วยอนาคตของสถาบันพระมหากษัตริย์ออสเตรเลีย ผลที่ออกมาได้บ่งบอกถึงความต้องการที่จะรักษาไว้ซึ่งประมุขของประเทศที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง จากการสำรวจความคิดเห็นในสหราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2550 พบว่ายังคงมีแรงสนับสนุนในสมเด็จพระราชินีนาถอยู่มาก ส่วนผลการลงประชามติในตูวาลู พ.ศ. 2551 และการลงประชามติในเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ พ.ศ. 2552 ยืนยันถึงความต้องการของทั้งสองประเทศที่ปฏิเสธการเปลี่ยนระบอบการปกครองไปเป็นสาธารณรัฐ
การติดตามพระราชทรัพย์ส่วพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ดำเนินมาหลายปี นิตยสารฟอร์บประเมินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในปี พ.ศ. 2553 ว่ามีมูลค่าสุทธิราว 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่แถลงการณ์สำนักพระราชวังบักกิงแฮมในปี พ.ศ. 2536 กล่าวว่าการประเมินพระราชทรัพย์ไว้ที่ 100 ล้านปอนด์นั้นเป็น "การกล่าวเกินจริงอย่างมากมาย" จ็อค โคลวิลล์ อดีตราชเลขาธิการส่วนพระองค์และอดีตผู้อำนวยการธนาคารส่วนพระองค์ คุตส์ (Coutts) ประเมินทรัพย์สินส่วนพระองค๋ในปี พ.ศ. 2514 ไว้ที่ 2 ล้านปอนด์ (เทียบเท่าประมาณ 21 ล้านปอนด์ในปัจจุบัน) องค์สมเด็จพระราชินีนาถไม่ได้ทรงครอบครองงานสะสมศิลปะหลวง (ซึ่งรวมถึงงานศิลปะและเครื่องราชกกุธภัณฑ์) แต่มีการถือครองตามกฎหมายทรัสต์ ด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ประทับอย่างพระราชวังบักกิงแฮม, พระราชวังวินด์เซอร์ และดัชชีแลงแคสเตอร์ มีมูลค่าในปี พ.ศ. 2554 ที่ 383 ล้านปอนด์ ส่วนพระตำหนักซานดริงแฮมและปราสาทแบลมอรัลองค์สมเด็จพระราชินีนาถทรงถือครองเป็นการส่วนพระองค์ พระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร (The British Crown Estate) ซึ่งมีมูลค่าในปี พ.ศ. 2554 รวมกันทั้งสิ้น 7.3 พันล้านปอนด์ ได้รับการถือครองไว้ในกฎหมายทรัสต์ไว้เป็นสมบัติของชาติ สมเด็จพระราชินีนาถทรงไม่สามารถจำหน่ายพระราชทรัพย์เหล่านี้ได้เป็นการส่วนพระองค์
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงดำรงพระราชอิสริยยศและตำแหน่งทางการทหารในประเทศเครือจักรภพมากมาย เป็นผู้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในประเทศของพระองค์ ทรงได้รับการถวายพระเกียรติและรางวัลมากมายจากทั่วโลก และมีพระราชอิสริยยศเป็นการเฉพาะในแต่ละประเทศ เช่น สมเด็จพระราชินีนาถแห่งจาเมกา, สมเด็จพระราชินีนาถแห่งออสเตรเลีย ฯลฯ เป็นต้น ทรงดำรงตำแหน่งลอร์ดแห่งแมนในเกาะแมน และดยุกแห่งนอร์ม็องดีในหมู่เกาะแชนเนล ซึ่งทั้งสองเป็นดินแดนปกครองตนเองของสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังทรงดำรงตำแหน่งอื่น ๆ เช่น อัครศาสนูปถัมภก และดยุกแห่งแลงแคสเตอร์ เมื่อพระราชินีนาถมีพระราชปฏิสันธานกับเรา ควรเริ่มเอ่ยถึงพระองค์ด้วยคำว่า "ฝ่าพระบาท" (Your Majesty) หลังจากนั้นจึงค่อยใช้คำว่า "ท่าน" (Ma'am) ในการกล่าวถึงพระองค์ ลำดับบรรณดาศักดิ์ที่ทรงได้รับตลอดช่วงพระชนม์ชีพมีดังต่อไปนี้ :
ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2487 จนกระทั่งเสด็จขึ้นครองราชย์ ตราอาร์มประจำพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรประกอบด้วย ตราแผ่นดินของสหราชอาณาจักรในรูปทรงข้าวหลามตัดพร้อมด้วยบังเหียนสีเงินสามพู่ พู่กลางเป็นตรากุหลาบทิวดอร์ ส่วนอีกสองพู่เป็นตรากางเขนแห่งเซนต์จอร์จ หลังจากการเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสืบทอดตราอาร์มที่พระราชบิดาทรงถือครองในฐานะพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังทรงครอบครองธงพระอิสริยยศและธงประจำพระองค์เพื่อใช้ในสหราชอาณาจักร, แคนาดา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, จาเมกา, บาร์เบโดส และประเทศเครือจักรภพอื่น ๆ
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/> ที่สอดคล้องกัน หรือไม่มีการปิด </ref>